SDS หรือ Safety Data Sheet หมายถึงเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (บางคนเรียก MSDS) ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมี หรือเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตราย พิษ วิธีใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัด และการจัดการอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง และปลอดภัย
โดยตามระบบสากลขององค์กรสหประชาชาติ กำหนดให้ข้อมูลใน SDS ต้องประกอบด้วยข้อมูล 16 หัวข้อ ดังนี้
- ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี / เคมีภัณฑ์ และบริษัทผู้ผลิต และจัดจำหน่าย
- ข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย
- องค์ประกอบ และส่วนผสมของสารเคมี
- มาตรการปฐมพยาบาล
- มาตรการผจญเพลิง
- มาตรการควบคุมการแพร่กระจายจากอุบัติเหตุ
- ข้อปฏิบัติการใช้สาร และการเก็บรักษา
- การควบคุมการสัมผัสสาร / การป้องกันส่วนบุคคล
- สมบัติทางกายภาพ และเคมี
- ความเสถียร และความว่องไวต่อปฏิกิริยา
- ข้อมูลทางพิษวิทยา
- ข้อมูลเชิงนิเวศน์
- ข้อคำนึงถึงในการกำจัดทิ้ง
- ข้อมูลการขนส่ง
- ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ
- ข้อมูลอื่น ๆ
ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ข้อ 3 ระบุให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบและอธิบายลูกจ้างเข้าใจข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในครอบครองของนายจ้าง ข้อความและเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ปรากฏในเอกสารคู่มือ ฉลาก ป้าย หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้
ดังนั้น เมื่อจัดทำSDS แล้วอย่าลืมแจ้งให้ลูกจ้างทราบ และเข้าใจด้วย เพราะถ้าไม่ทำจะระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเชียวนะ !!